เมื่อใดก็ตามที่ชีวิตของเราเริ่มล่วงเลยเข้าสู่วัยแห่งความชรา นั้นย่อมประสบกับปัญหาของการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายต่างๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้น เมื่อมีอายุมากขึ้น ทำให้เรามีเวลาว่างเพียงพอ ทำให้ผู้สูงอายุบางรายกลับรู้สึกหม่นหมองและไร้ค่า ไม่รู้ว่าจะชดเชยด้วยการทำอะไรได้ ฉะนั้นเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพแก่ผู้สูงอายุควรมีการจัดกิจกรรมต่างๆขึ้นมา อย่างเช่น
1.กิจกรรมการเรียนรู้ ผู้สูงอายุบางคนมีความสนใจพิเศษในการทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้จากความคุ้นเคยในอาชีพการงาน จึงต้องการคงสภาวะเดิมไว้เพื่อบริหารสมอง และป้องกันการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายโดยจะช่วยยืดอายุการใช้งานและการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด เช่น การเป็นวิทยากรให้ความรู้ การอ่านหนังสือ ชมรมวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมือง
2.กิจกรรมการบริการผู้อื่น เช่น การเสียสละและทำประโยชน์ให้แก่สังคม หรือที่เรียกว่าอาสาสมัครนั่นเอง เช่น บริการทางสุขภาพอนามัย สังคมสงเคราะห์ องค์กรการกุศลต่างๆ องค์กรทางศาสนา ชมรมและสมาคมผู้สูงอายุ
3.กิจกรรมนันทนาการ เช่น เลือกงานอดิเรกที่สนใจจำพวกวาดรูป ทำอาหาร ทำสวน ทำงานช่างไม้ ทอผ้า ทำหุ่น เกมต่างๆ หมากรุก หรือจะเลือกพักผ่อนโดยการท่องเที่ยวในประเทศหรือต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจุบันมีตลาดท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม
4.กิจกรรมงานที่ได้รับค่าตอบแทน สำหรับผู้มีวิชาชีพเฉพาะหรือมีความชำนาญในบางเรื่อง อาจตั้งบริษัทของผู้สูงอายุเอง เช่น แพทย์ นักบัญชี วิศวกร หรือให้คำปรึกษาโดยเปิดการสอนคอร์สสั้นๆ เช่น ครูอาจเปิดสอนพิเศษ ตำรวจอาจไปเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย
กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้นับเป็นข้อเสนอทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุที่มีเวลาว่าง เพื่อที่จะให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นภาระกับผู้อื่นหรือคนรอบข้างแล้ว ยังสามารถสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมด้วย ดังนั้น การทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีของครอบครัวอย่างการมีทัศนคติที่ดีต่อคนรอบตัว มองโลกในแง่ดี ไม่เครียด มีเหตุผลกับทุกๆ เรื่อง ดำเนินชีวิตท่ามกลางการปล่อยวาง ใจเย็นและเป็นสุขก็จะช่วยให้สามารถเป็นผู้สูงอายุที่ได้รับการเคารพนับถือเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของครอบครัวให้มีความร่มเย็นเป็นสุขได้